เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กันอยู่บ้าง เพราะชายคนนี้คือนักการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองมานานกว่า 40 ปี ทำหน้าที่ ส.ส.สุโขทัยถึง 10 สมัย รวมถึงดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรี” มาแล้วกว่า 14 ครั้ง ซึ่งสมศักดิ์ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างทำหน้าที่รัฐมนตรีเลยแม้แต่ครั้งเดียว และช่วงที่เป็น ส.ส. เขาก็ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านเลยสักครั้ง ประวัติน่าสนใจขนาดนี้ เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักนักการเมืองรุ่นเก๋า ผู้ผ่านมาแล้วทุกยุคคนนี้กันดีกว่า
ประวัติ สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ เทพสุทิน เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เป็นลูกชายของ “โกเหนา” ประเสริฐ เทพสุทิน เจ้าของธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในสุโขทัย สมศักดิ์จบการศึกษาชั้น มศ.3 จากโรงเรียนศรีสำโรงชนูปถัมภ์ ก่อนจะเดินทางมาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร สมศักดิ์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมศักดิ์สมรสกับอนงค์วรรณ เทพสุทิน มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน ดำเนินกิจการธุรกิจก่อสร้างและกิจการ “เทิดไทฟาร์ม”
เส้นทางการเมืองของสมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์เริ่มต้นเส้นทางการเมืองในตำแหน่ง สจ.สุโขทัย ปี พ.ศ. 2524 ก่อนจะขยับมาเล่นการเมืองระดับชาติ และได้รับตำแหน่ง ส.ส.สุโขทัยสมัยแรก สังกัดพรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2526 ขณะที่เขามีอายุได้เพียง 26 ปี นับตั้งแต่นั้นจนถึงปี พ.ศ. 2539 สมศักดิ์ได้ตำแหน่ง ส.ส.สุโขทัยในทุกฤดูกาลเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ปี พ.ศ. 2535
สมศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาแล้วถึง 14 ครั้ง โดยสมัยสังกัดพรรคกิจสังคม เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 ครั้ง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 4 ครั้ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่เขาจะย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ สมศักดิ์อยากนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ติดปัญหาการเจรจาโควตารัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้สมศักดิ์ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทั่งได้แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 ก่อนจะย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา
จากกลุ่ม “วังน้ำยม” ถึง “สามมิตร”
สมศักดิ์เคยเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยที่ชื่อว่า “กลุ่มวังน้ำยม” พร้อมกับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และอนุชา นาคาศัย ดูแล ส.ส. ภายในกลุ่มประมาณ 80 คน ทำให้กลุ่มวังน้ำยมกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพรรค ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 มีนโยบายที่รู้จักกันอย่างดีคือ “โคล้านตัว” ซึ่งเป็นนโยบายแจกโคให้กับเกษตรกรฟรีทั่วประเทศ แต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ
หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 สมศักดิ์และกลุ่มวังน้ำยมได้ลาออกจากพรรคไทยรักไทย จึงตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ชื่อว่า “กลุ่มมัชฌิมา” ต่อมาเขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และให้กำเนิดพรรคใหม่ชื่อ “มัชฌิมาธิปไตย” ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคดังกล่าว ปี พ.ศ. 2561 สมศักดิ์และสุริยะได้ตั้ง “กลุ่มสามมิตร” ขึ้นมา โดยรวบรวมอดีต ส.ส. มาอยู่ในสังกัด และเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งปี พ.ศ. 2566 สมศักดิ์ได้ปิดฉากกลุ่มสามมิตร และพานักการเมืองที่ใกล้ชิด ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งทั่วไปปี 2566
สมศักดิ์ เทพสุทิน ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน
หลังจากที่สมศักดิ์แถลงลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และกลับมาทำงานกับพรรคเพื่อไทย เขาได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยความมั่นใจในประเด็นเรื่องพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ โดยระบุว่า “ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่ผมไม่เคยอยู่ฝ่ายค้านในขณะที่เป็น ส.ส.”
อย่างไรก็ตาม คำพูดที่ว่าเขาไม่เคยเป็นฝ่ายค้านในขณะที่เป็น ส.ส. อาจจะถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะเมื่อย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2554 สมศักดิ์อยู่เบื้องหลังกลุ่มมัชฌิมาที่มี ส.ส. อยู่ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และตอนนั้นพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ทว่า สมศักดิ์ไม่ได้เป็น ส.ส. ในปีนั้น และเขาก็ดิ้นรนหาทางเข้าร่วมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่สุดท้ายก็เจรจาปิดดีลดังกล่าวไม่ได้